Trending
เปิดตัว “Airborne Infection Defense Platform (AIDP)” อย่างเป็นทางการ ในการประชุมรมว.สาธารณสุขอาเซียน เสริมแกร่งชาติอาเซียนรับมือโรคระบาดใหญ่และป้องกันโรคติดเชื้อแบบแพร่กระจายทางอากาศ

เปิดตัว “Airborne Infection Defense Platform (AIDP)” อย่างเป็นทางการ
ในการประชุมรมว.สาธารณสุขอาเซียน เสริมแกร่งชาติอาเซียนรับมือโรคระบาดใหญ่และป้องกันโรคติดเชื้อแบบแพร่กระจายทางอากาศ

กรุงเทพ – 8 สิงหาคม 2567 – แพลตฟอร์มป้องกันการติดเชื้อแบบแพร่กระจายทางอากาศ (Airborne Infection Defense Platform) หรือ AIDP เปิดตัวอย่างเป็นทางการเพื่อมุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการรับมือวัณโรค ระบบสาธารณสุข และ การเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดของชาติอาเซียน เพื่อจัดการปัญหาการติดเชื้อทางเดินหายใจแบบแพร่กระจายทางอากาศที่เพิ่มขึ้น วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ติดต่อจากคนสู่คนผ่านอากาศ โดยเมื่อผู้ป่วยไอ จาม ไม่ปิดปากทำให้เกิดละอองฝอย ผู้อยู่ใกล้สูดหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อวัณโรคเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการติดเชื้อและป่วยได้ โดยวัณโรคพบได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่ที่พบมากคือวัณโรคปอด
จากสถิติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าสถานการณ์วัณโรคทั่วโลกจาก ‘องค์การอนามัยโลก’ ระบุว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยประมาณ 10 ล้านคน โดยในปี 2566 สถานการณ์ผู้ป่วยวัณโรคในประเทศไทยประมาณการจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 คน แต่มีการรายงานการขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 72,274 คน และเสียชีวิตจากวัณโรค ปีละ 13,700 คน โดยเป็นผู้ป่วยวัณโรคที่ติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยเสียชีวิต 2,100 คน สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีโอกาสจะป่วยเป็นวัณโรค ประกอบไปด้วย กลุ่มผู้สัมผัสผู้ป่วยวัณโรคปอด กลุ่มผู้ต้องขังผู้อาศัยในสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการ/สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ ผู้ป่วยไตเรื้อรังหรือได้รับยากดภูมิ กลุ่มผู้สูงอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 65 ปีที่สูบบุหรี่หรือมีโรคร่วม ปอดอุดกั้นเรื้อรัง เบาหวาน กลุ่มผู้ใช้สารเสพติด ติดสุราเรื้อรัง และกลุ่มบุคลากรสาธารณสุข

การเปิดตัวโครงการริเริ่มนี้เป็นกิจกรรมคู่ขนานของการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนครั้งที่ 16 (The 16th ASEAN Health Ministers Meeting) หรือ AHMM ซึ่งมีผู้นำภาครัฐเข้าร่วม อาทิ ดร.บุนแฝง พูมมะไลสิต รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสปป.ลาว พ.ต.ต.หญิง สุรีย์วัลย์ ไทยประยูร รองผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ และพันธมิตรนานาชาติเพื่อการต่อต้านวัณโรค (Stop TB Partnership) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดและวัณโรคในภูมิภาคอาเซียน ยกระดับความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และเพิ่มความสามารถของชาติอาเซียนในการจัดการปัญหาการติดเชื้อทางเดินหายใจแบบแพร่กระจายทางอากาศ

ในการประชุมผู้นำ พ.ต.ต.หญิง สุรีย์วัลย์ ไทยประยูร รองผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ จากประเทศไทย กล่าวว่า “การแก้ไขปัญหา วัณโรค เป็นหนึ่งในหัวใจหลักประเทศไทยให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับเมื่อเริ่มมีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งเราเพิ่มมาตรการในการค้นหาผู้ป่วยที่ยังคงอยู่ในเรือนจำ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากในพื้นที่ชายแดน นั่นจึงเป็นที่มาในความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เราหวังที่จะรักษาและเสริมสร้างเครือข่ายท้องถิ่น ทบทวนการทำแผนกลยุทธ์ และทำความเข้าใจว่าจำเป็นต้องมีความร่วมมือเพื่อรับมือกับโรคระบาดและกำจัดวัณโรคให้ดียิ่งขึ้น เราหวังที่จะสร้างภาวะผู้นำร่วมกัน ถ่ายทอดความรู้จากสถาบันการศึกษา ตลอดจนประสบการณ์ความเป็นผู้นำ เพื่อให้ทุกคaนมีความเข้าใจและความสำคัญของวัณโรคร่วมกัน”
รายงานวัณโรคโลกประจำปี 2023 ประเมินว่า มีประชากรอาเซียนมากกว่า 2.4 ล้านคนติดเชื้อวัณโรค โดยชาติอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม อยู่ในบัญชีขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในฐานะประเทศที่มีภาระด้านวัณโรคสูง นอกจากนี้ การระบาดของ Covid-19 ได้ทำลายโปรแกรมป้องกันและการรักษาวัณโรคระดับชาติ เนื่องจากต้องนำบุคลากรและทรัพยากรของโครงการด้านวัณโรคไปใช้เพื่อจัดการปัญหา Covid-19 ดังนั้นจึงมีการประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตเพราะติดเชื้อวัณโรคเพิ่มขึ้นเกือบ 5 แสนคนในช่วงปี 2020-2022 AIDP มีเป้าหมายเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อต่อสู้กับการติดเชื้อทางเดินหายใจแบบแพร่กระจายทางอากาศ โดยทำงานร่วมกับชาติสมาชิกอาเซียนและองค์กรสำคัญระดับโลกเพื่อตกลงด้านนโยบายและวิธีการ รวมถึงแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การใช้โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีแพลตฟอร์มและบุคลากร เพื่อเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้ป่วยวัณโรคและความพร้อมรับมือโรคระบาด

ศาสตราจารย์นายแพทย์จันดรา โยคะ อดิตามะ ที่ปรึกษาอาวุโสของ STPI และหัวหน้าโครงการ AIDP กล่าวว่า “การระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า โลกไม่ได้พร้อมรับมือการติดเชื้ออย่างรวดเร็ว นอกจากที่จะทำให้สูญเสียชีวิตมนุษย์แล้ว Covid-19 ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อโปรแกรมป้องกันและรักษาวัณโรค สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันภายในอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบรับมือวัณโรค ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้ป่วยวัณโรคแล้ว ยังเพิ่มการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดอีกด้วย” จากการประเมินในภาพรวม AIDP จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างการรับมือการระบาดของวัณโรคระดับพื้นที่ของแต่ละประเทศอาเซียน รวมถึงชุมชนและการดูแลปฐมภูมิ โดยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่มีอยู่แล้ว เพื่อปรับปรุงการตรวจหาโรค การรักษา และการป้องกัน นอกจากนี้ จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่มีการพัฒนามากขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาด Covid-19 เช่นเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลแบบพกพา ที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบโรคได้ในพื้นที่ในท้องถิ่น โดยคนไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลหรือคลินิก เทคโนโลยีวินิจฉัยทางโมเลกุลอย่างรวดเร็ว และเครื่องมือเฝ้าระวังดิจิทัลแบบเรียลไทม์ มาตรการต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมสำหรับวัณโรคเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ในการเผชิญกับโรคระบาดในอนาคต ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคติดเชื้อทางอากาศ

ดร. สุวนันด์ ซาฮู รองผู้อำนวยการบริหาร พันธมิตรนานาชาติเพื่อการต่อต้านวัณโรค (Stop TB Partnership) กล่าวว่า “ในการดำเนินงานระยะแรก AIDP จะเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยประเมินสถานการณ์ใน 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งจะสรุปความสามารถในปัจจุบันของแต่ละประเทศในการรับมือวัณโรคและการระบาดของโรคติดเชื้อแบบแพร่กระจายทางอากาศในอนาคต และแนะนำการปฏิบัติเพื่อเตรียมพร้อมรับมือการระบาดให้ดีขึ้น จากนั้นในระยะที่ 2 จะมีการสนับสนุนกิจกรรมสาธารณสุขปฐมภูมิและระดับชุมชน เพื่อเพิ่มความสามารถในการเตรียมพร้อมรับมือวัณโรคทั่วอาเซียน เพื่อรับมือการติดเชื้อทางเดินหายใจแบบแพร่กระจายทางอากาศหรือการระบาดใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น เราขอบคุณ USAID สำหรับความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการแก้ปัญหาวัณโรคทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งความพยายามดังกล่าวทำให้เกิดการจัดตั้ง AIDP เราขอขอบคุณรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำหรับความเป็นผู้นำในการจัดการประชุมครั้งแรกเกี่ยวกับ AIDP”
วัณโรคมีอัตราการเสียชีวิตในระดับสูงหรือ 15% เทียบกับ Covid-19 ที่มีอัตราการเสียชีวิต 3.5% การวิจัยของ Hogan et al (2020) ระบุว่าการป้องกันและรักษาวัณโรคได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญระหว่างเกิดการระบาดของ Covid-19 ซึ่งมีการตรวจสอบเคสผู้ป่วยวัณโรคลดลง มีการติดเชื้อวัณโรคภายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีน BCG ลดลง และการเข้าถึงยาและการทดสอบเชื้อวัณโรคลดลง

 

—————————