Trending
PDPC เปิดสถิติร้องเรียนเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล แล้วเสร็จ 122 เรื่อง เป้าปี 67 ยกระดับการ  มุ่งลดตัวเลขสถิติ สร้างสังคมตระหนักรู้กฎหมาย PDPA

PDPC เปิดสถิติร้องเรียนเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล แล้วเสร็จ 122 เรื่อง
เป้าปี 67 ยกระดับการทำงาน ‘ศูนย์ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน’
มุ่งลดตัวเลขสถิติ สร้างสังคมตระหนักรู้กฎหมาย PDPA

‘ศูนย์ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน’ ภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPC เปิดแนวทางปฏิบัติการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผู้ถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล 1. รับเรื่อง 2.แสวงหาข้อเท็จจริง 3.ทำสำนวน 4. เสนอคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณา โดยสถิติรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปี 2564 ถึงเดือน เม.ย. 2567 รวม 512 เรื่อง ออกคำสั่งแล้วเสร็จ 122 เรื่อง หรือร้อยละ 23.82 ประชาชนเข้าร้องเรียนเฉลี่ยวันละ 5 คนจากทุกช่องทาง โดยในปี 2567 เตรียมยกระดับการทำงาน ตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญคณะที่ 4 เพื่อช่วยพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาระบบจัดเก็บฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียน, จัดทำคู่มือเพิ่มมาตรฐานการทำงาน เน้นสร้างการตระหนักรู้กฎหมาย PDPA ให้ประชาชน มุ่งเป้าลดตัวเลขสถิติร้องเรียน เพื่อผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขึ้น

ศูนย์ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน ภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPC เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA มีระเบียบที่กำหนดให้ประชาชนหรือผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สามารถใช้สิทธิ์ในการ ‘ร้องเรียน’ ต่อผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล และผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้ โดยมี ‘ศูนย์ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน’ ภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC คอยดำเนินการในการรับเรื่อง, แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ทั้งจากผู้ร้องเรียน ผู้ถูกร้องเรียน หรือพยานที่เกี่ยวข้อง, การทำสำนวนเรื่องร้องเรียน และเสนอข้อเท็จจริงของเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองต่อไป

การวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องร้องเรียนทั้งหมด เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ หน้าที่หลักของศูนย์ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน คือกระบวนการในการตรวจสอบ เอกสารหลักฐานตามแบบคำร้องเรียน ประกอบกับการพิจารณาเอกสารและการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ทั้งความครบถ้วนถูกต้องของข้อมูลเอกสาร ซึ่งในกรณีที่ไม่ครบถ้วน ผู้ร้องเรียนก็จำเป็นต้องนำกลับไปปรับแก้ไขก่อนยื่นเรื่องใหม่ รวมไปถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ผู้ร้องเรียนให้มา พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถพิจารณาข้อมูลจากฝั่งเดียวได้ ต้องตรวจสอบ วิเคราะห์รายละเอียด และต้องไปแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ถูกร้องหรือพยานเพิ่มเติม อีกทั้งบางกรณีที่คณะกรรมการฯ มองว่าข้อมูลที่รวบรวมมายังมีไม่มากพอ ก็อาจเรียกกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในประเด็นนั้น ๆ ได้เช่นกัน

“ซึ่งนับตั้งแต่มีการรวบรวมรายงานสถิติรับแจ้งเรื่องร้องเรียน ตั้งแต่ พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2567 ได้มีการรับเรื่องร้องเรียน รวม 512 เรื่อง และมีการพิจารณาออกคำสั่งไปแล้ว 122 เรื่อง หรือร้อยละ 23.82”

ศูนย์ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน ภายใต้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPC เสริมว่า การแจ้งเรื่องร้องเรียน โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องการถูกเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยที่ไม่ได้รับความยินยอม รวมถึงขอใช้สิทธิ์ลบ ทำลาย และขอปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ในทุกช่องทาง ประกอบด้วย ยื่นต่อสำนักงานโดยตรง, ยื่นผ่านไปรษณีย์ และยื่นผ่านอีเมล และมีแนวโน้มการร้องเรียนเพิ่มขึ้น สาเหตุหลัก ๆ มาจากสังคมเกิดการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลกันมากขึ้น รวมถึงที่ประชาชนได้ตระหนักรู้สิทธิ์ในกฎหมาย PDPA ของตนเริ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาศูนย์ฯ ได้พิจารณาไม่รับเรื่องร้องเรียนไปแล้วถึง 136 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 26.56 เหตุผลหลักมาจากคำร้องนั้นไม่อยู่ในขอบเขตของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เนื่องจากประชาชนยังขาดความรู้ ความเข้าใจ สิทธิ์ตามกฎหมาย PDPA ซึ่งกรณีนี้ ศูนย์ฯ จะแจ้งเหตุผลให้ผู้ร้องเรียนทราบ พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำกรณีสามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมายอื่นได้”

ทั้งนี้ เรื่องร้องเรียนที่ได้รับการเสนอต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ จะถูกพิจารณาแบ่งออกเป็น 3 คณะ คือ คณะที่ 1 พิจารณาเรื่องสถาบันการเงิน, คณะที่ 2 พิจารณาเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล, คณะที่ 3 พิจารณาเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐ โดยผลการพิจารณาจะออกเป็นคำสั่ง แยกเป็นกรณีที่สามารถไกล่เกลี่ยกับคู่กรณีได้ และกรณีที่มีมูลและพยานหลักฐานชัดเจน ให้พิจารณาสั่งลงโทษทางปกครองได้ อีกทั้งในปี 2567 นี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPC ได้เตรียมเพิ่มคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขึ้นมาอีกหนึ่งคณะ คือ คณะที่ 4 เพื่อพิจารณาในเรื่องโรงพยาบาล สาธารณสุข และการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยลดระยะเวลาการดำเนินงาน พร้อมยกระดับกระบวนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

“ในปี 2567 นี้ ศูนย์ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน ได้มุ่งเสริมแนวทางการปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกับประชาชน อาทิ การเพิ่มจำนวนบุคลากร, เพิ่มความเสถียรให้ระบบการรับเรื่องร้องเรียนที่หน้าเว็บไซต์, พัฒนาระบบจัดเก็บฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียน รวมถึงด้านสถิติต่าง ๆ เพื่อความโปร่งใสในการทำงาน นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมจัดทำคู่มือแนวทางของศูนย์ฯ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยึดเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติงาน

“นอกเหนือจากนี้ สิ่งที่ศูนย์ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน รวมถึงทั้งหน่วยงานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ โดยมุ่งสร้างความตระหนักรู้ในกฎหมาย PDPA ผ่านทางช่องทางของสำนักงานอย่างสม่ำเสมอ เช่น Facebook, YouTube หรือทางโทรศัพท์ในการให้คำปรึกษา เพื่อลดความเข้าใจผิดและลดเรื่องร้องเรียนที่ไม่ตรงกับหลักการของกฎหมาย PDPA เพราะถ้าสถิติการร้องเรียนมีตัวเลขลดลง แปลว่าสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงประชาชนมีความรู้และวิธีป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลที่ดีขึ้นเช่นกัน”

ผู้ที่ต้องการแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA สามารถดำเนินการได้ทาง
• ยื่นเรื่องต่อสำนักงานโดยตรง ที่ศูนย์ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียน PDPA Center
• ยื่นผ่านไปรษณีย์ ศูนย์บริการประชาชน PDPA Center อาคารศูนย์บริการลูกค้า 99 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานครฯ 10210
• ยื่นผ่านอีเมล saraban@pdpc.or.th

ช่องทางการติดต่อ PDPC หรือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.)
สามารถติดต่อ เพื่อสอบถาม ขอคำปรึกษา หรือปรึกษาการยื่นเรื่องร้องเรียนได้ในวัน และ เวลาราชการ
📞 ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 02 114 8504 และ 02 141 6993
📞 สอบถามการยื่นคำร้องเรียน : 02 142 1033
📞 ติดต่อ PDPA Center : 02 027 8852
Line ID: @pdpcthailand
💻 ส่งหนังสือราชการ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนี้
📧 e-mail : saraban@pdpc.or.th 🌐 เว็บไซต์ : www.pdpc.or.th
#PDPC #PDPA #สคส #PDPACenter #ข้อมูลส่วนบุคคล#กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม