สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เดินหน้า ตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 เปิดศูนย์ดิจิทัลชุมชนแห่งใหม่ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร หวังเป็นแหล่งเรียนรู้และพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลของชุมชน ช่วยลดช่องว่าง สร้างความเท่าเทียม และยกระดับคุณภาพชีวิตในสังคมดิจิทัล
วันที่ 9 กรกฎาคม 2566 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาระบบนิเวศศูนย์ดิจิทัลชุมชนอย่างยั่งยืน ภายใต้กิจกรรมที่ 2 การจ้างพัฒนาระบบจัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชนและงานบำรุงรักษา 5 ปี พร้อมด้วยนายสมบูรณ์ เมฆไพบูลย์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารเทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสาร และนายสมเกียรติ ศิริวัฒนโชค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการบริหารจัดการเชิงนโยบาย และนางสาวรัตนา จรูญศักดิ์สิทธิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วม โดยมีนางทรายทอง ตรีสัตยกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ คณะครูและนักเรียนให้การต้อนรับณ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนแห่งใหม่ โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์ดิจิทัลชุมชนเป็นโครงการตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ.2561-2580) หรือ Thailand 4.0 ของรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็น 1 ใน 6 ยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายดังกล่าว ได้แก่
1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
2. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
3. สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
4. ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
5. พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
6. สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
โดยยุทธศาสตร์ที่ 3 การมุ่งสร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล คือ การพัฒนาประเทศที่ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียม โดยรัฐบาลได้เดินหน้าพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสูงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนในสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ วัด มัสยิด โรงเรียน สถานที่ราชการในท้องถิ่น และชุมชนที่เหมาะสม กระจายครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนในชุมชนได้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยที่ผ่านมาดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจำนวน 500 แห่ง และในปี 2566 นี้ ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชนเพิ่มอีก 1,722 แห่ง รวมจำนวน 2,222 แห่งทั่วประเทศ
สำหรับการจัดตั้งศูนย์ดิจิทัลชุมชน มุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของเด็ก เยาวชนและประชาชนในชุมชน ให้สามารถสืบค้นข้อมูล เรียนรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมความรู้ตลอดชีวิตเป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในชีวิตประจำวันการประกอบอาชีพ ช่วยเพิ่มรายได้ เช่น การค้าขายสินค้าออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวชุมชน การรับงานไปทำที่บ้าน รวมถึงการสร้างงานลักษณะใหม่ ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล การทำงานในรูปแบบ Work From Home รวมถึงการสร้างงานในรูปแบบใหม่ ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล
นอกจากนี้ ยังช่วยลดช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงข่าวสารและบริการของภาครัฐมากยิ่งขึ้น เพื่อเสริมสร้างสังคมคุณภาพเท่าเทียมให้ประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มของเกษตรกร ผู้อาศัยในชุมชนห่างไกล ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และคนพิการเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านดิจิทัลของคนทุกกลุ่ม โดยความสำเร็จของโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชนในวันนี้ได้รับการการันตีจากรางวัลชนะเลิศ WSIS Prize ปี 2021 ในหมวดสังคมและจริยธรรมของเทคโนโลยีสารสนเทศ จากสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (ITU)
นางสาวรัตนา จรูญศักดิ์สิทธิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการดังกล่าวฯ ยังสอดคล้องกับแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2564) ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแห่งชาติ (กสทช.) ประกอบด้วย 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 จัดให้มีศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (ศูนย์ดิจิทัลชุมชน) และกิจกรรมที่ 2 การพัฒนาระบบจัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยมีระยะเวลาดำเนินการทั้งโครงการอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2566 – 2571
สำหรับการดำเนินการของกิจกรรมที่ 1 มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย โรงเรียนหรือสถานศึกษา โรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และโรงเรียนสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ สดช. ให้การสนับสนุนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่น ๆ อาทิ เครื่องพิมพ์มัลติฟังก์ชั่น เครื่องมัลติมีเดียโปรเจคเตอร์ เครื่องขยายเสียงพร้อมลำโพงแบบเคลื่อนที่ ระบบ CCTV ระบบอินเทอร์เน็ตความเร็ว 200/100 Mbps พร้อมด้วยบุคลากรสนับสนุนการปฏิบัติงานประจำศูนย์ดิจิทัลชุมชน จำนวน 1 คน ตลอดระยะเวลา 5 ปี
ในส่วนของกิจกรรมที่ 2 เป็นแพลตฟอร์มสำหรับใช้ในการบริหารจัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชน อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการศูนย์ดิจิทัลชุมชน ส่งเสริมพัฒนาทักษะดิจิทัลและการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างระบบนิเวศในการบริหารจัดการศูนย์ดิจิทัลชุมชนได้อย่างยั่งยืน เช่น การหาความรู้เพิ่มเติมในด้านต่างๆ ผ่านระบบส่งเสริมทักษะดิจิทัล (DCC Digital Upskill & Reskill)การเชื่อมต่อการหางานไปยังหน่วยงานต่างๆ ด้วยระบบจับคู่ตำเเหน่งงาน (DCC Smart Job Center) ระบบสรรหาเเละจับคู่เเหล่งทุน (DCC Smart Funding) บริการข้อมูลผ่านเเชทบอต ระบบจัดการเรียนรู้ (Learning Management System) เช่น เกษตรสมัยใหม่ การจัดการธุรกิจชุมชน การพัฒนาผลิตภัณฑ์เเละการสื่อสารทางการตลาด การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ Digital Literacy การดูเเลผู้สูงวัย Coding เป็นต้น
ด้านนางทรายทอง ตรีสัตยกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ กล่าวว่า โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ มีความยินดีที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ โดยได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ พร้อมเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแก่ชุมชน นับเป็นประโยชน์อย่างสูงต่อนักเรียน คุณครู ผู้ปกครอง และประชาชน ในพื้นที่ใกล้เคียงที่จะได้รับโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนต่อไป