“อรวรรณ ชวดมี” ผู้หญิงแห่งโลกพลังงานยุคใหม่
“อรวรรณ ชวดมี” ผู้หญิงแห่งโลกพลังงานยุคใหม่
คุณฝ้าย อรวรรณ ชวดมี กรรมการบริหารใหญ่บริษัท แอร์โรว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (Arrow Energy Co.,Ltd.)
“จากเทรนด์กระแสการรักษ์สิ่งแวดล้อม ใครจะคิดว่า จะกลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ผลักดันให้หญิงสาวคนหนึ่ง ก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงาน พร้อมกับความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ที่จะทำให้ทุกคนในสังคมได้รับอากาศที่สะอาด และปราศจากมลพิษ”
คุณฝ้าย อรวรรณ ชวดมี กรรมการบริหารใหญ่บริษัท แอร์โรว์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (Arrow Energy Co.,Ltd.) เล่าถึงแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เธอก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้าว่า ด้วยแนวโน้มและกระแสความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เธอตัดสินใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานสะอาด “ฝ้ายเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยงานแรกที่ฝ้ายทำก็คือ การเป็นวิศวกรฝ่ายขาย (Sales engineer) จำหน่ายระบบไฟฟ้าให้โรงงานอุตสาหกรรม” แรงผลักดัน สู่ธุรกิจพลังงานสะอาด
ขณะเดียวกัน การสังเกต และคาดการณ์ถึงแนวโน้มของการใช้พลังงานอย่างมีนัยยะสำคัญ ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้เธอ ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และใช้เงินเก็บที่มี เปิดบริษัทของตัวเองขึ้นมา “กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ทุกคนทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจาก การใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ทั้งมลพิษทางอากาศ และก๊าซเรือนกระจก จนกลายเป็นภาวะโลกร้อนอย่างทุกวันนี้”
“บริษัท แอร์โรว์ เอ็นเนอร์ยี่ จึงเรียกว่า เป็นอีกหนึ่งคำตอบของการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเดิมทีนับตั้งแต่ก่อตั้งธุรกิจของเราขึ้นมา เราวางให้เป็นธุรกิจแบบ B2B เพราะลูกค้าของเราคือโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องการใช้หม้อต้มไอน้ำ(Boiler) และเครื่องดักจับฝุ่นในกระบวนการผลิต โดยจุดเด่นของโรงงานเหล่านี้คือจะใช้เชื้อเพลิงแบบชีวมวล ที่ได้มาจากซากพืชจากการทำเกษตรกรรม เช่น แกลบข้าว ชานอ้อย และปาล์ม ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างและเพิ่มประสิทธิภาพให้หม้อต้มไอน้ำ เรายังสร้างอุปกรณ์ที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดี โดยวันนี้ เราให้บริการโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานอุตสาหกรรมแล้วกว่า 80 โรงงานทั่วภูมิภาคในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ และต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นการตอกย้ำ การแก้ไขปัญหาพลังงานของโลก อย่างยั่งยืน”
เทรนด์พลังงานเพื่อชีวิตอนาคต
นอกจากการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว “ฝ้าย-อรวรรณ” ในฐานะของกรรมการบริหารใหญ่ของบริษัท ยังได้ตระหนักไปถึงมลพิษที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงอย่าง กรุงเทพฯ ด้วยว่า กำลังเผชิญหน้ากับมลพิษทางอากาศที่เกิดจากยานพาหนะ ทั้งฝุ่น และควันตามท้องถนน “เทรนด์รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ถือเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศ รวมถึง ช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และปัญหาโลกร้อนได้ บริษัท แอร์โรว์ เอ็นเนอร์ยี่ ของเรา จึงเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจไลน์ใหม่ โดยใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญของเราที่มี ทำสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ ซึ่งจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มาช่วยสนับสนุนให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น” คุณอรวรรณ บอกด้วยว่า นี่เป็นอีกหนึ่งนโยบายของบริษัท ที่ต้องการขยายธุรกิจ ในแบบ B2C เพื่อให้เข้าถึงผู้คนในสังคม ไปพร้อมๆ กับ การสร้างความตระหนักถึงเรื่องพลังงานแห่งโลกอนาคต
“Q Charge คือแบรนด์ธุรกิจที่เราแตกไลน์ใหม่ ขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ในฐานะสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่จะติดตั้งอยู่ทุกอาคารในกรุงเทพฯ และ หัวเมืองต่างๆ เพื่อให้คนเห็นจนรู้สึกคุ้นชิน และ มั่นใจมากขึ้นที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ผลักดันแผนพัฒนา EV ของประเทศไทย ซึ่งวันนี้เราได้ติดตั้งสถานี Q Charge ไปแล้วกว่า 10 จุดในกรุงเทพฯ โดย 8 สถานีจะอยู่ในชั้นจอดรถของคอนโดมิเนียม และอีก 2 สถานีจะอยู่ในโรงพยายาล” สำหรับในอนาคต ผู้บริหารสาวย้ำอย่างหนักแน่นว่า จะติดตั้ง Q Charge ให้ได้ถึง 2500 จุด ภายในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งก็จะรวมถึงการติดตั้งในพื้นที่ส่วนบุคคล รวมถึง ห้างสรรพสินค้า อาคารแบบไฮไรส์ และ โรงแรมด้วย เตรียมพร้อมสู่เป้าหมายความสำเร็จ
“ในปีนี้ (2565) เราจะเน้นติดตั้งที่กรุงเทพฯก่อน และจะเริ่มกระจายไปติดตั้งตามจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เชียงใหม่, พัทยา, ขอนแก่น, และภูเก็ต ภายในปีหน้า ซึ่งฝ้ายมองว่า ความสำเร็จของตัวเอง คือการทำให้ Q Charge เป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วไปเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย” ทั้งนี้ คุณอรวรรณ ยังคาดหวังด้วยว่าเธอ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ให้กับประเทศไทย “แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ในปีนี้ ถ้า Q Charge มีจำนวนจุดติดตั้ง และมียอดการสั่งซื้อเครื่องชาร์จ สำหรับติดตั้งในบ้าน ได้ตามแผนที่วางไว้ ฝ้ายก็ถือว่า ประสบความสำเร็จในขั้นแรกแล้วค่ะ”
“นับตั้งแต่เราเริ่มมีการติดต่อ อาคาร และคอนโดมิเนียมต่างๆ เพื่อเสนอการติดตั้งสถานี Q Charge ฝ้ายพบว่า มีคนสนใจและต้องการที่จะติดตั้งสถานีมากกว่า 80% รวมถึงให้เข้าไปสำรวจและนำเสนอแล้วมากกว่า 50% ตอบรับที่จะติดตั้งให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นจำนวนสูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ในตอนแรกเป็นอย่างมาก ณ วันนี้เราได้ทำการสำรวจและศึกษาแนวโน้มการเติบโตของตลาดจากสถาบันวิจัยต่างๆ จึงได้ตั้งเป้าใหม่ให้ตอบรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาแรงในขณะนี้ คิวชาร์จทุ่มทุนกับการวิจัยพัฒนาและมีแผนจะทำการตลาดแบบอิมแพ็ค เพื่อให้ปีนี้ธุรกิจสถานีชาร์จเติบโตมากกว่า 1000%” ซึ่งในอนาคต ทางคุณฝ้าย ยังวางแผนที่จะมองหาพันธมิตรทางธุรกิจกับภาครัฐ อย่าง การไฟฟ้า ด้วย “นอกจากตลาดในประเทศแล้วเรายังตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชีย อย่าง อินเดีย และ อินโดนีเซีย ด้วย เนื่องจากมีฐานธุรกิจของบริษัท แอร์โรว์ เอ็นเนอร์ยี่ และรู้จักตลาดในประเทศดังกล่าวเป็นอย่างดี ทำให้ง่ายต่อการขยายธุรกิจต่อไป”
จุดเด่น Q Charge
สำหรับราคาค่าชาร์จไฟฟ้า จากสถานี Q Charge จะอยู่ที่ ยูนิตละ 10 บาท และ Premium Rate จะอยู่ที่ 15 บาทต่อยูนิต “Q Charge ของเรา มีจุดเด่นอยู่ที่ สถานีชาร์จที่เน้นการบริการ สร้างความพึงพอใจสูงสุดแก่ลูกค้า เมื่อลูกค้าใช้งานแล้วต้องติดใจอยากกลับมาใช้อีก ขณะเดียวกัน เรายังได้เสนอบริการรายเดือนรูปแบบต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายที่สุดอีกด้วย เราพัฒนาให้ระบบของคิวชาร์จรันออนไลน์ 100% เพียงดาวน์โหลดแอพ Q Charge ก็ใช้บริการสถานีทั้งชาร์จและเติมเงินผ่านแอพได้เลย นอกจากนี้เรายังมีทีมเซอร์วิสซัพพอร์ตที่คอยตรวจความพร้อมของเครื่องชาร์จเป็นประจำ สรุปยอดบิลรายเดือน เก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบ รวมถึงแก้ปัญหาทันทีหากมีระบบขัดข้องอีกด้วย”
“สำหรับแท่นชาร์จ ของเราในช่วงแรก จะเน้นเป็นแบบ AC ผ่าน on-board ในตัวรถเพื่อรักษาคุณภาพแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้า โดยระยะเวลาของการชาร์จแบบนี้ จะขึ้นอยู่กับ on-board ของรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละรุ่น ซึ่งบางรุ่นรับไฟฟ้าได้ 11 หรือ 22 กิโลวัตต์ ก็จะชาร์จได้เร็วกว่ารุ่นที่รับไฟฟ้าได้ 7 กิโลวัตต์นั่นเอง”
…ทั้งหมดนี้ เป็นหนึ่งความตั้งใจ และความทุ่มเทของ ผู้หญิงที่ชื่อ “ฝ้าย-อรวรรณ ชวดมี ที่ต้องการให้โลกของเราสะอาด และมีอากาศบริสุทธิ์ให้ทุกๆ คน ได้หายใจอย่างไร้ความกังวล…
สุดท้ายนี้ชีวิตไลฟ์สไตล์ ในแบบ อรวรรณ ชวดมี
เรียกว่า การทำงานในวันนี้ของ ฝ้าย-อรวรรณ ชวดมี ไม่ได้ทำเพื่อตัวของเธอเท่านั้น ทว่า เธอยังเป็นผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ทำงานเพื่อครอบครัว “สำหรับฝ้าย เราทำทุกอย่างเพื่อให้ครอบครัว เพื่อให้คุณพ่อ คุณแม่ และน้องสาว มีความสุข มีความสบาย ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำ ได้ไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ถ้าครอบครัวของเราอยากทำอะไร ไปไหนเราให้เขาเต็มที่เลย แล้วเราก็ใช้เวลาว่างที่อยู่กับครอบครัวทำสิ่งที่เราชอบไปด้วย เช่น เมื่ออยู่ที่บ้านก็อ่านหนังสือหรือดูรายการทีวีที่ชอบร่วมกัน เมื่อออกไปเที่ยวเราก็จะไปหากิจกรรมแอดเวนเจอร์ที่ชอบทำและชวนน้องไปสนุกด้วย”
“ส่วนสถานที่ท่องเที่ยว หรือ พักผ่อน ฝ้ายชอบไปทะเล ชอบเที่ยวเกาะค่ะ ได้ร่องเรือ ว่ายน้ำดูปะการัง ขับเจ็ทสกี ไปเที่ยวในไทยทุกที่ ที่เคยไปฝ้ายชอบหมด แต่ถ้าหมดโควิดเราอยากพาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศบ้าง ประเทศที่อยากไปที่สุดตอนนี้คือสวิตเซอร์แลนด์ เพราะอากาศดีมีวิวธรรมชาติสวย อยากไปชมยอดเขาจุงเฟรา และอีกที่คือมัลดีฟส์ อยากรู้ว่าทะเลที่นู้นจะสวยเหมือนทะเลบ้านเราไหม”